วันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2553

วันอาทิตย์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ฟอร์มาลิน


"ฟอร์มาลิน" เป็นชื่อที่รู้จักดีในทางการค้าของสารละลายฟอร์มาลดีไฮด์ หรือที่วงการแพทย์ เรียกว่า "น้ำยาดองศพ" เป็นสารละลายที่ประกอบด้วยก๊าซฟอร์มาลดีไฮด์ประมาณร้อยละ 37 ละลายอยู่ในน้ำ และมีเมทานอลปนอยู่ด้วยประมาณ 10 - 15 % ลักษณะเป็นของเหลวใส ไม่มีสี แต่มีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเคมีภัณฑ์พลาสติก สิ่งทอ ใช้ในการรักษาผ้าไม่ให้ย่นยับ เป็นต้น หรือใช้ในทางการแพทย์เป็นยาฆ่าเชื้อโรค ฆ่าเชื้อรา และเป็นน้ำยาดองศพ พบว่ามีการนำสารฟอร์มาลินมาผสมในอาหาร เพื่อให้อาหารคงความสด ไม่เน่าเสียง่าย และเก็บรักษาได้นาน อาหารที่มักตรวจพบฟอร์มาลินอาหารทะเลสด ผักสดต่าง ๆ และเนื้อสัตว์สด เป็นต้น อันตรายต่อผู้บริโภค ฟอร์มาลิน เป็นสารที่มีพิษต่อร่างกายหากบริโภคโดยตรงจะมีพิษเฉียบพลัน คือ มีอาการตั้งแต่ปวดท้องอย่างรุนแรง อาเจียน อุจจาระร่วง หมดสติ และตายในที่สุด หากได้รับน้อยลงมาจะเป็นผลให้การทำงานของตับ ไต หัวใจ สมองเสื่อมลง หากสัมผัสก็จะระคายเคืองผิวหนัง ปวดแสบปวดร้อน ผู้ที่ไวต่อสารนี้มากจะมีอาการปวดศีรษะ หายใจติดขัด แน่นหน้าอก หากสูดดมจะมีอาการเคืองตา จมูก และคอ ปวดแสบปวดร้อน วิธีหลีกเลี่ยงอันตรายจากฟอร์มาลิน- เมื่อต้องการซื้ออาหารทะเล ผักสดต่าง ๆ และเนื้อสัตว์ ให้ตรวจสอบโดยการดมกลิ่น จะต้องไม่มีกลิ่นฉุนแสบจมูก - ก่อนนำอาหารสดมาประกอบอาหารควรล้างให้สะอาดก่อน ข้อสังเกต ผักสดต่าง ๆ ที่ขายทั้งวันโดยยังดูสด ไม่เหี่ยวทั้ง ๆ ที่ถูกแสงแดดและลมตลอดทั้งวัน หรือเนื้อสัตว์มีสีเข้มและสดผิดปกติ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้แช่เย็น อาจมีการแช่ฟอร์มาลินจึงไม่ควรซื้อมารับประทาน

บอแรกซ์ (Sodium Borate)


บอแรกซ์ หรืออาจเรียกชื่อว่า ผงกรอบ น้ำประสานทอง ผงเนื้อนิ่ม สารข้าวตอก ผงกันบูด และเม่งแซหรือเพ่งแซ มีลักษณะเป็นผง หรือผลึกสีขาว ไม่มีกลิ่น มีรสขมเล็กน้อย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดให้เป็นวัตถุที่ห้ามใช้ในอาหาร เพราะเป็นสารเคมีที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมหลายชนิด เช่น ใช้ในอุตสาหกรรมทำแก้ว ใช้เป็นส่วนประกอบของยาฆ่าเชื้อ ใช้เป็นสารฆ่าแมลง ใช้ทำอุปกรณ์ไฟฟ้า ใช้ในการเชื่อมทอง ใช้ชุบและเคลือบโลหะ และใช้ในการผลิตถ่านไฟฉาย เป็นต้น ชื่อทางเคมีของบอแรกซ์ คือ "โซเดียมบอเรต" (Sodium Borate) "โซเดียมเตตราบอเรต" (Sodium Tetraborate) "โซเดียมไบบอเรต" (Sodium Biborate) ฯลฯ เนื่องจากสารบอแรกซ์ทำให้อาหารมีลักษณะหยุ่น กรอบ และมีคุณสมบัติเป็นวัตถุกันเสียด้วย จึงพบมีการลักลอบนำมาผสมในอาหาร เพื่อให้อาหารมีความหยุ่น กรอบ คงตัวได้นาน ไม่บูดเสียง่าย นอกจากนี้ยังมีการนำเอาบอแรกซ์ไปละลายน้ำแล้วทาที่เนื้อหมู เนื้อวัว เพื่อให้ดูสด ไม่บูดเน่าก่อนเวลา บางแห่งใช้เนื้อหมูเนื้อวัวจุ่มลงในน้ำบอแรกซ์ รวมทั้งพบว่ามีการปลอมปนในผงชูรส เนื่องจากมีลักษณะเป็นผลึกเล็ก ๆ คล้ายผงชูรส อาหารที่มักตรวจพบบอแรกซ์เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ เช่น หมูสด หมูบด ปลาบด ทอดมัน ลูกชิ้น ไส้กรอก แป้งกรุบ ทับทิมกรอบ ผลไม้ดอง เป็นต้น อันตรายต่อผู้บริโภค บอแรกซ์ เป็นสารที่มีพิษต่อร่างกาย ความรุนแรงของการเกิดพิษ ขึ้นกับปริมาณที่ร่างกาย ได้รับและการสะสมในร่างกาย หากได้รับในปริมาณไม่มาก แต่ได้รับบ่อยเป็นเวลานานจะเกิดอาการเรื้อรัง เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ผิวหนังแห้งอักเสบ หนังตาบวม เยื่อตาอักเสบ ตับและไตอักเสบ ระบบสืบพันธุ์เสื่อมสมรรถภาพ เป็นต้น ถ้าได้รับบอแรกซ์ในปริมาณสูงจะเกิดอาการเป็นพิษแบบเฉียบพลัน เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ อุจจาระร่วง เป็นต้น บางครั้งรุนแรงถึงเสียชีวิตได้ วิธีหลีกเลี่ยงอันตรายจากบอแรกซ์- ไม่ควรซื้อเนื้อสัตว์บดสำเร็จรูป ควรซื้อเป็นชิ้นและต้องล้างให้สะอาดแล้วจึงนำมาบดหรือสับเอง- หลีกเลี่ยงการซื้ออาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่ผิดปกติจากธรรมชาติ เช่น เนื้อหมูที่แข็ง กดแล้วเด้ง หรือผิวเป็นเงาเคลือบคล้าย กระจก- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีลักษณะหยุ่นกรอบอยู่ได้นานผิดปกติ อาหารที่เก็บไว้เป็นเวลานาน ก็ไม่บูดเสีย หากไม่แน่ใจในอาหารนั้น ๆ ควรใช้ชุดทดสอบบอแรกซ์อย่างง่าย ซึ่งหาซื้อได้ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวง สาธารณสุข นนทบุรี

สารเร่งเนื้อแดง

สารเร่งเนื้อแดง (ซาลบูทามอล)
ซาลบูทามอล เป็นสารในกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ (-Agonist) เป็นตัวยาสำคัญในการผลิตยาบรรเทาโรคหอบหืด ช่วยในการขยายหลอดลม และช่วยให้กล้ามเนื้อหลอดลมคลายตัว แต่จะมีผลข้างเคียงต่อหัวใจ ระดับน้ำตาลในเลือดและกล้ามเนื้อโครงสร้างของร่างกาย พบว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู มีการนำสารชนิดนี้ไปผสมในอาหารสำหรับเลี้ยงหมู เพื่อกระตุ้นให้หมูอยากอาหาร เร่งการเจริญเติบโตของหมู ช่วยสลายไขมันและทำให้กล้ามเนื้อขยายใหญ่ขึ้น ทำให้เนื้อหมูมีปริมาณเนื้อแดงเพิ่มมากขึ้น เพราะจะทำให้ได้ราคาดีกว่าหมูที่มีชั้นไขมันหนา ๆ อันตรายจากซาลบูทามอลการบริโภคเนื้อสัตว์ที่มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้างอยู่ อาจมีอาการมือสั่น กล้ามเนื้อกระตุก ปวดศีรษะ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ กระวนกระวาย วิงเวียนศีรษะ บางรายมีอาการเป็นลม คลื่นไส้อาเจียน มีอาการทางจิตประสาท และเป็นอันตรายมากสำหรับหญิงมีครรภ์และผู้ที่เป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคไฮเปอร์ไธรอยด์ ข้อแนะนำในการเลือกซื้อเนื้อหมู- เลือกซื้อเนื้อหมูที่มีสีธรรมชาติ มีมันหนาบริเวณสันหลัง และมีไขมันแทรกอยู่ในกล้ามเนื้อเห็นได้ชัดเจนเมื่อตัดขวาง - เมื่อไม่ต้องการบริโภคมันหมูก็ให้ตัดมันหมูทิ้งไป ข้อสังเกต เนื้อหมูที่ปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดงถ้าหั่นและปล่อยทิ้งไว้ เนื้อหมูจะมีลักษณะค่อนข้างแห้ง

สารปนเปื้อนในอาหาร


อาหารเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต่อชีวิตมนุษย์เราทุกคน เพราะเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่ช่วยให้ ร่างกายมนุษย์เจริญเติบโตและยังทำให้มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งในสมัยก่อนอาหารที่เรารับประทานยังไม่มีการผลิตครั้งละปริมาณมาก ๆ เพื่อการค้า จะรับประทานเป็นมื้อ เก็บไว้อย่างมากก็เพียงข้ามวันเท่านั้น แต่ในปัจจุบันโลกมีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอาหารประกอบกับจำนวนพลเมืองของโลกที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงมีการผลิตอาหารในปริมาณมาก ๆ ทำให้มีการค้นคิดวิธีการต่าง ๆ ในการ เก็บรักษาอาหารได้นาน รวมทั้งช่วยให้อาหารมีรูปลักษณ์ที่ดี ทำให้ผู้บริโภคสนใจและต้องการเลือกซื้อ โดยมีการนำสารเคมีต่าง ๆ มาผสมในอาหาร ซึ่งสารเคมีบางอย่างเป็นอันตรายต่อร่างกาย บางชนิดหากบริโภคเข้าไปในปริมาณมากอาจถึงแก่ชีวิตได้ พบว่ามีอาหารหลายชนิดที่เรารับประทานเข้าไปโดยไม่รู้ว่ามีสารเคมีปนเปื้อนอยู่ โดยสารเคมีที่เป็นอันตรายแต่พบมีการปนเปื้อนในอาหารมี 6 ชนิด